ตาเสือขน ๑

Dysoxylum arborescens (Blume) Miq.

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือหอม (ใต้)
ไม้ต้นขนาดกลาง เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ อาจแตกล่อน สีเทาแกมสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาล มีช่องอากาศขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๗-๙ ใบ มักเรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีหรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มี ๔-๕ พู แตกเป็นเสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑-๒ เมล็ด ผลแก่สีชมพูถึงสีชมพูแกมสีแดงหรือสีแดงแกมสีส้ม เมื่อแห้งสีดำ เมล็ดสีส้มหรือสีส้มอมแดง ทรงรูปไข่ป้อมหรือรูปทรงรีป้อม มีขั้วเมล็ดสีขาว ขนาดใหญ่

ตาเสือขนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ อาจแตกล่อน สีเทาแกมสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาล มีช่องอากาศขนาดเล็ก เปลือกชั้นในสีฟางข้าวถึงสีน้ำตาลอ่อน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๔๕ ซม. มีใบย่อย ๗-๙ ใบ มักเรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๘.๕-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม ส่วนแหลมยาวได้ถึง ๑ ซม. โคนรูปลิ่ม บางครั้งอาจเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาวได้ถึง ๗ ซม. โคนก้านป่อง ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๖ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๒-๘ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๕ ซม. มีขน ใบประดับย่อยเล็ก รูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง ๑.๕ มม. มีขน ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. มีขน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ยาว ๒.๕-๔ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เล็กมาก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๒ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายแหลมและงุ้ม ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสั้น ขอบแฉกกลีบดอกจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง ๘ มม. ปลายหลอดตัดหรือหยักตื้น ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขน ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน อับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. มีจานฐานดอกคล้ายวงแหวน สูง ๑-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวใกล้เคียงกับหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมแป้น กว้างประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มี ๔-๕ พู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ผลแก่สีชมพูถึงสีชมพูแกมสีแดงหรือสีแดงแกมสีส้ม เมื่อแห้งสีดำ เกลี้ยง ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔-๕ เสี่ยง พบน้อยที่แตกเป็น ๓ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดสีส้มหรือสีส้มอมแดง ทรงรูปไข่ป้อมหรือรูปทรงรีป้อม กว้างได้ถึง ๑.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๑.๘ ซม. มีขั้วเมล็ดสีขาว รูปค่อนข้างรี ขนาดใหญ่

 ตาเสือขนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าโปร่ง ป่าดิบ และเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอันดามัน ไต้หวัน เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย รัฐควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือขน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dysoxylum arborescens (Blume) Miq.
ชื่อสกุล
Dysoxylum
คำระบุชนิด
arborescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือหอม (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์